Last updated: 14 Feb 2020 | 2767 Views |
ตอนนี้ ShutterGolf บอกได้เลยว่า " เที่ยวเมืองไทย คือ ไทยเท่ " เมืองไทยไม่ไป ไม่รู้ว่ามีของดีงดงามซ่อนอยู่หลายที่เลย พระราชวังบางปะอินก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้จะมีชื่อเสียงอยู่แล้ว แต่หลายคนกลับมองข้ามไปท่องเที่ยวไกล ๆ แต่หารู้ไม่ว่าจากกรุงเทพ ฯ ขับรถมาเพียงชั่วโมงเศษเอง แล้วใช้เวลาท่องเที่ยวเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น สามารถมาท่องเที่ยวได้ในช่วงเวลา 8.00 - 16.00 น. และควรแต่งตัวสุภาพด้วยนะคะ
พระราชวังบางปะอิน ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ห่างจากเกาะเมืองลงมาทางทิศใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร[1] เป็นพระราชวังโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากเป็นที่ประสูติของพระองค์ ใช้เป็นสถานที่ที่ทรงใช้ประทับแรม ของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ด้วยเป็นพระราชวังใกล้พระนครนั่นเอง
ตามประวัตินั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเอกาทศรถ ยังทรงดำรงพระยศพระมหาอุปราช วันหนึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสทางชลมารค เมื่อถึงบริเวณเกาะบางปะอิน เรือพระที่นั่งถูกพายุใหญ่พัด ทำให้เรือพระที่นั่งล่มลง สมเด็จพระเอกาทศรถทรงว่ายน้ำขึ้นไปบนเกาะนี้ ซึ่งเดิมชื่อ "เกาะบ้านเลน" และประทับอยู่กับชาวบ้าน
ในระหว่างประทับอยู่ ณ ที่นี้ สมเด็จพระเอกาทศรถได้หญิงชาวเกาะเป็นบาทบริจาริกา มีนามว่า "อิน" จึงเป็นเหตุให้คนทั่วไปเรียกเกาะนี้ต่อมาว่า "เกาะบางปะอิน" ต่อมาเมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พระองค์ก็ทรงพานางอินนี้กลับไปกรุงศรีอยุธยาด้วย นางอินผู้นี้จึงเป็นพระสนมในเวลาต่อมา และมีพระราชโอรสด้วยกัน เล่ากันว่าพระราชโอรสพระองค์นั้น คือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
เมื่อปี พ.ศ. 2175 หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นตรงบริเวณนิวาสสถานเดิมของพระมารดา และได้พระราชทานนามว่า "วัดชุมพลนิกายาราม" และได้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งเพื่อฉลองการที่พระราชเทวีประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระนารายณ์ราชกุมาร พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์" พระราชวังบางปะอินจึงเป็นสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในฤดูร้อนสืบเนื่องกันมา จนกระทั่ง กรุงศรีอยุธยาได้เสียแก่พม่าเมื่อปี พ.ศ. 2310 ซึ่งทำให้พระราชวังแห่งนี้ถูกปล่อยให้รกร้างไป
พระราชวังบางปะอินกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง เมื่อสุนทรภู่ได้ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ซึ่งได้เดินทางผ่านพระราชวังบางปะอิน และได้ประพันธ์ถึงพระราชวังแห่งนี้ในนิราศพระบาท
รำพึงพายตามสายกระแสเชี่ยว ยิ่งแสนเปลี่ยวเปล่าในฤทัยถวิล สักครู่หนึ่งก็มาถึงบางเกาะอิน กระแสสินธุ์สายชลเป็นวนวัง อันเท็จจริงสิ่งนี้ไม่รู้แน่ ได้ยินแต่ยุบลในหนหลัง ว่าที่เกาะบางอออินเป็นถิ่นวัง |
ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังกรุงศรีอยุธยา ประพาสผ่านพระราชวังบางปะอิน ทอดพระเนตรเห็นความร่มรื่นโดยรอบเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย อีกทั้งยังเป็นเขตพระราชวังเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระราชวังบางปะอิน โดยสร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งเป็นที่ประทับ เรือนแถวสำหรับเจ้านายฝ่ายในหนึ่งหลัง พลับพลาริมน้ำ และพลับพลากลางเกาะ พร้อมทั้งปฏิสังขรณ์วัดชุมพลนิกายารามขึ้นใหม่
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า บางปะอินเป็นเกาะกลางน้ำ มึความเงียบสงบ มีเส้นทางการเดินเรือได้หลายทาง สมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเป็นสถานที่เสด็จประพาสของพระบรมชนกนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ สำหรับแปรพระราชฐานดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
เมื่อ ShutterGolf ไปถึง ก็ตรงรี่เข้าไปซื้อบัตรเพียง 30 บาทเท่านั้น เจ้าหน้าที่ก็มอบบัตรพร้อมเอกสารความรู้ให้ด้วย พลิกอ่านไปมาจึงพบว่า อาณาเขตกว้างมากถึง 116 ไร่ สายตาก็เหลือบเห็นรถ Golf เพื่อให้เช่า จึงตัดสินใจเช่ารถดีกว่าเดิน เพราะประหยัดเวลาและพลังงานด้วย หากเป็นคนไทย ราคาเช่ารถ 300 บาท/คัน/ชม. ชั่วโมงถัดไป จะคิด 100 บาท/ชม. แต่หากเป็นชาวต่างชาติ หรือมีชาวต่างชาติอยู่ในกลุ่มด้วย ก็จะคิดคันละ 400 บาท/คัน/ชม. รถที่ให้บริการนี้สะอาดและได้รับการดูแลเครื่องยนต์เป็นอย่างดี ขับขี่ง่าย ถนนหนทางภายในพระราชวังแห่งนี้กว้างขวาง เมื่อถูกใจสถานที่ใด ก็เพียงจอดรถตามจุดจอดรถ ลงไปถ่ายรูปได้ตามอัธยาศัย ShutterGolf ขอแนะนำว่า ทุกครั้งที่ลงจากรถ ต้องดับเครื่องยนต์และดึงกุญแจออกทุกครั้งเพื่อป้องกันรถสูญหายจากการเช่ารถ
พื้นที่ในพระราชวัง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ บริเวณชั้นในและชั้นนอก
เขตพระราชฐานชั้นนอก
เป็นบริเวณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้สำหรับการออกมหาสมาคมหรือประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย
เขตพระราชฐานชั้นใน
เชื่อมต่อกับเขตพระราชฐานชั้นนอก ด้วยสะพานที่มีลักษณะพิเศษ คือมีแนวฉากคล้ายบานเกล็ดกั้นกลาง ตลอดแนวสะพาน เพื่อแบ่งเป็นทางเดินของฝ่ายหน้าด้านหนึ่งและฝ่ายในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งฝ่ายในสามารถมองลอดออกมาโดยตัวเอง ไม่ถูกแลเห็น สะพานนี้เชื่อมจากพระที่นั่งวโรภาษพิมานกับประตูเทวราชครรไล ซึ่งเป็นประตูทางเข้าพระราชฐานชั้นในซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และข้าบาทบริจาริกา ประกอบด้วย
Cr. ข้อมูลประวัติจาก wikipedia