ไปเที่ยว MOCA พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยกันเถอะ

Last updated: 2 Jun 2020  |  3179 Views  | 

ไปเที่ยว MOCA พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยกันเถอะ

ตอนนี้มีการผ่อนคลายนโยบายการ LockDown แล้ว ShutterGolf จึงอยากชักชวนมาชมผลงานศิลปะกัน เพราะที่ผ่านมาพวกเราก็เครียดกันพอสมควร การได้ชื่นชมงานศิลป์ในพิพิธภัณฑ์ที่โอ่โถงกว้างขวาง ไม่แออัดเป็นการคลายเครียดและเพิ่มพลังบวกให้กับชีวิตทางหนึ่ง
 
พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยความ “หลงใหลในงานศิลปะ” และเจตนารมณ์อันแรงกล้าของ
คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ที่จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถอันวิจิตรและปราณีตของศิลปินไทย นอกจากนี้ยังเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะ รวมถึงเชิดชูเกียรติศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี “บิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัย” และท้ายที่สุดคือต้องการส่งเสริมให้ “สังคมศิลปะ” ในประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคงจนสามารถทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศได้ การจัดแสดงผลงานทั้งหมดนี้ คุณบุญชัย ตั้งใจร้อยเรียงเรื่องราวเหตุการณ์ร่วมสมัยในบ้านเมืองของเราในช่วงเวลาต่างๆ รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรม  ความเชื่อ และความเป็นอยู่ของสังคมไทย โดยผสานเทคนิคที่ได้รับอิทธิพลจากฝั่งตะวันตก และเน้นงานในลักษณะแนวความคิดฝันและจินตนาการ โดยพื้นที่ครึ่งหนึ่งของพื้นที่สีขาวนวลสะอาดตา 20,000 ตารางเมตร ได้จัดแสดงคอลเลคชั่นส่วนตัวของคุณบุญชัย จำนวนกว่า 800 ชิ้น ที่ค่อยๆทยอยเก็บสะสมด้วยความชื่นชอบส่วนตัวมายาวนานกว่า 30 ปี เรื่องราวทั้งหมดจะถูกเรียบเรียงจากรูปหล่อของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณโถงชั้น G ซึ่งเป็นโถงที่มีความสูงถึง 33 เมตร จากนั้นค่อยๆ พัฒนาอย่างเข้มข้นขึ้นไปตามลำดับ ชั้น 2, 3, 4 โดยไปจบลงที่ชั้น 5 ซึ่งจัดแสดงผลงานของศิลปินไทยเทียบเคียงกับผลงานของศิลปินจากหลายๆชาติทั่วทุกมุมโลก เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าฝีมือของศิลปินไทยสามารถพัฒนาไปจนสามารถจัดแสดงคู่กับผลงานของศิลปินต่างชาติได้อย่างทัดเทียม
 
"ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น / Ars Longa , Vita Brevis" เป็นวลีติดหูของนักศิลปะ เพราะเป็นวลีประจำตัวของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลีนั่นเอง ผู้มาขัดเกลาและดึงศักยภาพของลูกศิษย์แต่ละรุ่นให้เฉิดฉายออกมา และวางหลักสูตรจิตรกรรมและประติมากรรมที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งได้ยกระดับการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในเวลาต่อมา ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้นำหลักปรัชญาที่ว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” มาเผยแพร่ พร้อมกับหลักวิชา Academic Art ให้ลูกศิษย์ได้ศึกษาเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะทางศิลปะให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศจนได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัย”

งานศิลปกรรมของศิลปินที่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ได้วางรากฐานไว้ จึงเป็นผลงานที่ผสานความเชื่อ ความศรัทธาแบบดั้งเดิม เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยไว้อย่างลงตัว เปรียบดังกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนทั้งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของคนในชาติพุทธิปัญญาและความเป็นอารยะของชนชาติไทย

ประวัติอันยาวนานและน่าสนใจของศิลปกรรมไทยทั้งหมดได้รับการรวบรวมไว้แล้ว ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ที่ซึ่งเกิดจาก “ความหลงใหลในงานศิลปะ” ของคุณบุญชัย เบญจรงคกุล แต่เหตุผลหลักที่ทำให้คุณบุญชัยเปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยอย่างเป็นทางการ คือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเพื่อเชิดชูเกียรติของ “บิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัย” หรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
 
ภายในและภายนอกพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จัดแสดงผลงานศิลปะและแวดล้อมด้วยความสวยงามเชิงสถาปัตยกรรมได้อย่างลงตัว มีการแบ่งประเภท จัดวาง และแสดงโดยแบ่งเป็นชั้นต่าง ๆ มีบันไดเลื่อน (เลื่อนขึ้นอย่างเดียว) บันไดธรรมดา และลิฟต์ในการขึ้นลง สะดวกทั้งผู้ใช้รถเข็นอีกด้วย
 
ShutterGolf กลัวคนมาก เพราะต้องการเสพงานศิลป์อย่างเต็มที่และมีสมาธิ จึงเลือกมาแต่เช้า คือ 10.00 น. เลย (ที่นี่เปิดให้บริการอังคาร - อาทิตย์ 10.00 - 18.00 น. หยุดทุกวันจันทร์) มีที่จอดรถใต้ตึก รองรับจำนวนรถได้พอประมาณเลยทีเดียว  เมื่อจอดรถเสร็จแล้ว ก็เดินขึ้นมา เพียงแค่ทางขึ้นก็สะดุดตาด้วยทางลาดเอียงที่สวยงาม และมีแสงลอดได้อย่างงดงาม
 
 
 
 
เมื่อมาถึงทางเข้า ต้องทำการซื้อตั๋วเข้าชม แต่โชคดีของ ShutterGolf ที่ไปวันสุดท้ายที่เปิดให้เข้าชมฟรี ค่าตั๋วปกติ คือ 250 บาท (ผู้ใหญ่) และ 100 บาท (นักเรียนและนักศึกษา ต้องโชว์บัตรนะ)  ที่นี่ไม่อนุญาตให้ใช้ Flash ในการถ่ายภาพและไม่อนุญาตให้นำกระเป๋าใบใหญ่เข้าไป เราสามารถฝากของได้ที่ทางเข้าได้ 
 
เมื่อเข้าไปถึงจะเป็นบริเวณชั้น G ที่ประกอบไปด้วยห้องจัดแสดงนิทรรศการ 4 ห้อง, ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึกและโถงโล่งกว้างที่แทบจะเป็น Iconic ของสถานที่แห่งนี้ที่มีลวดลายผนังฉลุ สะท้อนกับแสงได้เป็นอย่างดี
 
ในส่วนของห้องจัดแสดงนิทรรศการ 4 ห้องนั้น จะแบ่งเป็นแบบหมุนเวียน จำนวน 2 ห้องและเป็นนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติและศิลปินชั้นเยี่ยมสาขาประติมากรรม ห้องแรกจัดแสดงผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติสาขาประติมากรรม จัดแสดงผลงานซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของศิลปะไทยร่วมสมัยอันมีรากฐานจากอารยธรรมกว่า 1,000 ปี ส่วนห้องที่ 2 จัดแสดงผลงานประติมากรรมของคุณไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาประติมากรรม ผลงานของท่านได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของงานประติมากรรมไทยครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์จากแนวอุดมคติสู่รูปแบบสากล โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีเป็นเบ้าหลอมสำคัญ และอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชั้นเยี่ยมสาขาประติมากรรม ซึ่งสร้างสรรค์ในแนวนามธรรม ได้รับแรงบันดาลใจทางด้านรูปแบบจากพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย ผลงานของท่านผสมผสานเส้นสายเข้ากับรูปแบบทรงสากลได้อย่างลงตัว
 
 
 
 
 
 
ชั้น 2 จัดแสดงความหลากหลายในปัจเจกภาพทางความคิด ผลงานศิลปะล้วนสะท้อนวิถีชีวิตของยุคสมัย ทัศนะ ความคิด อุดมคติ และความเป็นไปของเหตุการณ์ในสังคม อาทิ ผลงานสื่อผสมของกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม) กมลเป็นศิลปินที่ค้นหาพัฒนาในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระและต่อเนื่อง เขาสนใจในการทำงานลักษณะสื่อผสม ในส่วนของห้องนิทรรศการผลงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความเชื่อของคนไทย ค่านิยมทางสังคม เช่น ผลงานของ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ, ปรีชา ปั้นกล่ำ, วุฒิกร คงคา, ทวี รัชนีกร, วีรศักดิ์ สัสดี, ลำพู กันเสนาะ, เด่นพงษ์ วงศาโรจน์ ฯลฯ รวมถึงงานจิตรกรรมเชิงพุทธปรัชญา โดยศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พิชัย นิรันดร์, ปรีชา เถาทอง, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ปัญญา วิจินธนสาร และศิลปินที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่าน เช่น สุรสิทธิ์ เสาว์คง, ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ เป็นต้น
 
โถงหน้าห้องประชุมจัดแสดงหัวโขน ที่เป็นงานปราณีตศิลป์อันทรงคุณค่าของไทย โดยทั้งหมดได้รับคัดสรรจากฝีมือครูช่างที่ได้รับการยอมรับอีกด้วย
 
 
 
 
ชั้น 3 เน้นศิลปะเชิงความคิดฝันและจินตนาการภายใต้คติความเชื่อของคนไทยโดย สมภพ บุตราช, ช่วง มูลพินิจ ผ่านภาพเรือนร่างของผู้หญิงในอุดมคติ ภาพ “ตำนานวังหน้า” เป็นภาพการแต่งกาย เพื่อเตรียมร่ายรำด้วยชุดที่วิจิตรตระการตาของหญิงสาว โดย เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล และภาพ “นางผมหอม” นางในวรรณคดีจากศิลปินไทยคนสำคัญ สุภร พรินทรากุล  ส่วนเรื่องการแสดงออกด้านสัญชาตญาณนั้นถูกถ่ายทอดออกมาอย่างไร้ขีดจำกัด โดย สมพง อดุลยสารพัน และประทีป คชบัว นอกจากนี้ยังมีเรือนไทยไม้สัก “เรือนนางพิม” ซึ่งจัดแสดงงานจิตรกรรมสองยุคสมัย ที่เล่าเรื่องราวของนางพิมพิลาไลย สตรีจากวรรณกรรมไทยที่ถูกกล่าวขานใน 2 บริบท ผ่านเรื่อง “ขุนช้าง-ขุนแผน” ใน 2 รูปแบบที่แตกต่างกันโดยเหม เวชกร และสุขี สมเงิน
 
ชั้น 4 จัดแสดงผลงานที่ถือเป็นสุดยอดแห่งมหากาพย์ของจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ประกอบด้วยผลงานทุกประเภทของถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปราชญ์ผู้เป็นตำนานแห่งวงการศิลปะไทยร่วมสมัย ทั้งสุดยอดแห่งผลงานวาดเส้นและผลงานที่แสดงออกถึงพลังการเคลื่อนไหวของอารมณ์ด้วยฝีแปรง นอกจากนี้ยังรวบรวมผลงานของศิลปินชั้นเยี่ยม ซึ่งหาชมได้ยากยิ่ง อาทิ ทวี นันทขว้าง, เฟื้อ หริพิทักษ์, จักรพันธุ์ โปษยกฤต, ประกิต บัวบุศย์, อังคาร กัลยาณพงษ์ อีกฟากของอาคารเมื่อเดินทะลุสะพานข้ามจักรวาล ท่านจะได้พบกับผลงานจิตรกรรมขนาดความสูง 7 เมตร จำนวน 3 ภาพในชุด “ไตรภูมิ” บอกเล่าการเวียนว่ายตายเกิด ของสรรพสัตว์ในสังสารวัฏตามคติความเชื่อในทางพุทธศาสนา โดย สมภพ บุตราช, ปัญญา วิจินธนสาร และประทีป คชบัว
 
 
 
 
 
 
ชั้น 5 ได้รวบรวมงานศิลปะร่วมสมัยจากหลายประเทศ เช่น จีน, เวียดนาม, มาเลเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, ออสเตรเลีย, นอร์เวย์ และห้องที่โดดเด่นที่สุดคือห้อง Richard Green ซึ่งจำลองห้องนิทรรศการจากพิพิธภัณฑ์ในแถบยุโรปที่มีหลังคากระจกโค้งรับแสงธรรมชาติ โดยจัดแสดงผลงานจิตรกรรมจากศิลปินยุโรปฝีมืออันดับต้นๆ ในยุคพระนางเจ้าวิคตอเรียซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 รวมถึงผลงานของ Sir Lawrence Alma Tadema และ John William Godward ผลงานทุกชิ้นถูกดูแลรักษาอย่างดี ผลงานบางชิ้นมีอายุเกือบ 300 ปี น่าเสียดายที่ ShutterGolf ไม่สามารถเก็บภาพจากชั้นนี้มาอวดได้ เพราะที่นี่ไม่อนุญาตให้เผยแพร่นั่นเอง
 
ยังมีภาพอีกมากมายที่ ShutterGolf เก็บภาพมาอวดให้ชมกัน ลองเลื่อนดูกันนะคะ หากมีโอกาส ก็หาเวลาไปชมของจริงกันก็ดีนะ มีความสุขที่ได้ชมผลงานสวยงามเหล่านี้จริง ๆ

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy